ReadyPlanet.com
dot
dot
Newsletter

dot
dot
Dhamma : Deutsch
dot
bulletUnterweisung in Meditation
bulletREINIGUNG
bulletREICHTUM
bulletBuddhismus in 10 Minuten
bulletEINSTELLUNG ZUR MEDITATION
bulletDhamma Teworohana
bulletFalsche Ansichten
bulletUMGANG MIT DHAMMA-SCHRIFTEN
dot
ธรรมะไทย
dot
bullet พระพุทธศาสนากับเวลา ๑๐ นาที
bulletโคลงโลกนิติ
bulletศาสนพิธี
bulletคนใจดี คนใจร้าย
bulletบวชเพราะแม่ยาย
bulletเสียงสัตว์ 8 ชนิด
bulletคุณธรรมของหัวหน้า
bulletคุณสมบัติของผู้นำ
bulletบาปเกิดจากความจงใจ
bulletดาบสฌานเสื่อม
bulletโคนันทิวิสาล
bulletบุญที่ให้ทานแก่ปลา
bulletความจริงที่ไม่ควรพูด
bulletอาหารไม่บริสุทธิ์
bulletอานิสงส์การแผ่เมตตา
bulletพระมหาสุบิน ๑๖ ข้อ
bulletคมในฝัก
dot
Nachrichten
dot
bulletรูปภาพกิจกรรมของวัด Bilder Von Versammlung
bulletPhoto Album Wat Pah Puritattaram อัลบั้มรูป
bulletKommendes Fest 2024
bulletFeste im Jahr 2024
dot
เวปไซต์อื่น
dot
bulletLuangpumun (หลวงปู่มั่น)
bulletLuangta (หลวงตามหาบัว)
bulletWat Pah Puritattaram1
bulletWat buddhabharami
bulletWat Dhammabharami
bulletdhammayuteurope
bulletWatpa Copenhagen
bulletวัดป่าโกเธนเบิร์ก สวีเดน
bulletThailife
bulletพระไทยดอทเนต
bulletWat Dhammaniwasa Aachen
bulletวัดจักรวรรดิราชาวาส
bulletwatthaivienna วัดไทยเวียนนา
bullet สำนักฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ (ธรรมยุต)
bulletอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
bulletชาวไทย
bulletสถานกงสุลใหญ่ ณ นครแฟรงก์เฟิร์ต
bulletสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
bulletค้นหารหัสไปรษณีย์ไทย
bulletค้นหาเบอร์โทรศัพท์ (ไทย)
bulletwatpahgiessen
bulletมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย
bulletวัดธัมมธโร ออสเตรเลีย




ความหมายของการไหว้พระสวดมนต์ article

การสวดมนต์ไหว้พระ
ความหมายของการสวดมนต์ไหว้พระ
       การสวดมนต์ไหว้พระ  ได้นิยมมาแล้วตั้งแต่โบราณกาล  แม้ในศาสนาพราหมณ์  ก็ได้นิยมสวดดังที่เรียกกันว่า  สาธยายมนต์  ร่ายมนต์  เพื่อความทรงจำพระเวทบ้าง  เพื่อสิริมงคลบ้าง  ในทางพระพุทธศาสนา ก็มีการสวดสาธยายเช่นเดียวกัน  ในชั้นต้นเพ่งเพียงสวดสาธยาย  เพื่อความทรงจำหลักคำสอนที่เป็นพระพุทธวจนะเท่านั้น  เมื่อชาวบ้านได้ยินพระสงฆ์สวดสาธยายก็พากันอนุโมทนา และได้ถือกันว่าการได้ยินได้ฟังพระสงฆ์สวดสาธยายเช่นนั้นเป็นสิริมงคล ในสมัยนั้น ยังไม่มีตำราที่จดจารึกเอาไว้  ต้องท่องจำให้ได้ด้วยวาจา
      บทสวดในพระพุทธศาสนามีมาก  พระภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาถือเป็นหลักสำคัญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา  ประโยชน์ของการสวดมนต์ไหว้พระที่เห็นได้ชัด  มี  ๓  อย่าง  คือ
 ๑.   เป็นปริตรป้องกันเหตุเภทภัยต่าง ๆ
 ๒.  เป็นการทรงจำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเอาไว้
 ๓.  เป็นกัมมัฏฐานอบรมจิตใจของตน  ทั้งที่เป็นสมถะและวิปัสสนา
       ด้วยเหตุทั้ง  ๓  ประการนี้  ที่ถือกันว่าเป็นสิริมงคล  และสามารถที่จะป้องกันภัยอันตรายได้นั้น  จึงพากันนิยมการสวดสาธยาย  เป็นไปทั้งทางวัดและทางบ้าน  ภิกษุสามเณรและอุบาสกอุบาสิกาได้สวดเป็นประจำ  เช่น  ทำวัตรไหว้พระเป็นต้น  ในบางสมัยเมื่อปรารภเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น  ก็อาราธนาพระสงฆ์สวดเพื่อสิริมงคลบ้าง เพื่อเจริญความสังเวชบ้าง เมื่อมีความนิยมมากขึ้น  ต่อมาก็เลยนิยมเป็นพิธีทั้งในพระราชพิธีและพิธีของปวงชนทั่วไป.
       การสวดมนต์  ได้มีเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยพระพุทธเจ้ายังดำรงอยู่  มีบัญญัติในพระวินัยของนางภิกษุณีก็มี  เช่น  ห้ามนางภิกษุณี  และทรงห้ามพระภิกษุเรียนเดรัจฉานวิชา  แต่ให้เรียนปริตรป้องกันเหตุเภทภัยต่างๆ เมื่อมีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น  พระสงฆ์ก็ใช้สวดสาธยายพระพุทธวจนะนั้นตามสมควรแก่เหตุการณ์  ดังมีเรื่องเล่าว่า  เมื่อคราวเมืองเวสาลี  เกิดโรคระบาดทำให้คนและสัตว์ตายเป็นอันมาก  พระอานนท์ ได้ไปยังที่นั้นแล้วสวดรตนสูตร  โรคนั้นระงับไป  เมื่อสมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคทรงประชวร  โปรดให้พระจุนทเถระสวดโพชฌงคสูตรถวาย  ครั้งหนึ่งพวกภิกษุไปบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ป่า  ถูกพวกอมนุษย์รบกวน  กลับมาเฝ้ากราบทูลพระผู้มีพระภาค  พระองค์โปรดให้สวดกรณียเมตตสูตร   แล้วอยู่ต่อไป  ภัยเหล่านั้นก็ไม่มี หรือเมื่อพระโมคคัลลานะและพระมหากัสสปะเป็นไข้หนัก  พระพุทธเจ้าได้สวดโพชฌงคสูตร ให้สดับแล้วหายจากโรคภัยไข้เจ็บ       อานิสงส์ของการสวดมนต์ไหว้พระ  ท่านพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต  ได้มีเทศนาอยู่ตอนหนึ่งในหนังสือบูรพาจารย์ที่ทางมูลนิธิพระอาจารย์มั่น  ภูริทัตโต  ได้จัดพิมพ์ขึ้นมีใจความว่า การสาธยายพุทธมนต์  ใครสวดก็ตาม  จะเป็นกิจวัตรพระสงฆ์  เช้า - เย็น  หรือชาวพุทธทุกคนสวดพุทธคุณ ระลึกในใจ  มีอานุภาพแผ่ไปได้หมื่นจักรวาล  พูดสวดออกเสียงพอฟังได้  มีอานุภาพไปได้แสนจักรวาล  สวดมนต์เช้า - เย็น  ธรรมดามีอานุภาพแผ่ไปได้แสนโกฏิจักรวาล  สวดเต็มเสียงสุดกู่  มีอานุภาพแผ่ไปได้ อนันตจักรวาล  แม้สัตว์ที่อาศัยอยู่ในภพที่สุดอเวจีมหานรกยังได้รับความสุข  เมื่อแว่วเสียงพุทธมนต์ผ่านเข้า ถึงชั่วขณะหนึ่งครู่หนึ่ง  (ชั่วช้างพับหูงูแลบลิ้น)  ดีกว่าหาสุขไม่ได้ตลอดกาล  นี้คืออานิสงส์ของการเจริญพระพุทธมนต์


 พิธีกรรมไหว้พระและสวดมนต์  ในพระพุทธศาสนา
        การไหว้พระเป็นกิจเบื้องต้น  ต้องทำก่อนสวดมนต์  ไหว้พระกับบูชาพระโดยใจความอย่างเดียวกัน  ไหว้พระก็จะประสงค์ให้ระลึกถึงคุณพระ  บูชาพระก็เพื่อให้ระลึกถึงคุณพระว่า  ควรแก่การบูชา  แต่โดยวัตถุต่างกัน  ไหว้พระไม่มีเครื่องบูชาเป็นแต่ประนมมือระลึกด้วยใจเปล่งด้วยวาจา  กราบลงด้วยกายก็สำเร็จ เป็นไหว้พระพร้อมด้วยไตรทวาร  คือ  ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัยตามคำประกาศเป็นมโนประณามหนึ่ง  เปล่งวาจา  ประกาศคุณพระรัตนตรัย  เป็นวจีประณามหนึ่ง  กราบลงด้วยเบญจางคประดิษฐ์  คือ  ฝ่ามือทั้ง สอง  เข่าทั้งสองและหน้าผากหนึ่ง  รวมเป็นห้าจดลงกับพื้นเป็นกายประณามหนึ่ง  ส่วนบูชาพระมีเครื่อง  บูชา  เช่น  ดอกไม้  ธูป  เทียน  หรือเครื่องตกแต่งประดับประดา  ซึ่งอาจทำความเลื่อมใสศรัทธาให้ทวีมากขึ้น  เมื่อแลเห็นแสงประทีปสว่างไสวและหอมตลบอบอวลไปด้วยกลิ่นธูป  เทียน  และดอกไม้  อันยังน้ำใจของผู้เห็นทำให้อิ่มเอิบไปด้วยศรัทธาโน้มน้าวใจให้นึกถึงคุณพระรัตนตรัยยิ่ง ๆ  ขึ้นไป
        การสวดมนต์  คือการกล่าวคำศักดิ์สิทธิ์  อันมีฤทธิ์มีอำนาจเหนือชีวิตจิตใจ  ได้แก่การสรร เสริญ พระพุทธคุณ  พระธรรมคุณ  พระสังฆคุณ  และมนต์ของพระพุทธเจ้าซึ่งเรียกว่า  “พระพุทธมนต์”  แต่พระพุทธมนต์เป็นคำศักดิ์สิทธิ์อย่างยิ่ง  ผู้นับถือพระพุทธศาสนาย่อมนับถือพระพุทธมนต์เสมอด้วยชีวิตจิตใจ  ถือว่าเป็นเครื่องป้องกันภัยอันตราย  และประสิทธิ์ประสาทความเจริญ  ให้จัดเป็นกุศลพิธีมาแต่ครั้งพุทธกาล การสวดมนต์ใช้สวดกันเป็นภาษามคธเป็นพื้น  เพราะภาษามคธเป็นภาษาหลักเดิมของพระพุทธศาสนา  และนับถือกันว่าเป็นของศักดิ์สิทธิ์  ข้อสำคัญควรรู้ความที่สวดนั้นด้วย  การสวดมนต์ที่เราเห็นกันอยู่คือการสวดเป็นกิจวัตรสำหรับตนอย่างหนึ่ง  ฟังพระสวดมนต์ในพิธีต่างๆ  อย่างหนึ่ง  ในการสวดก็มีหลายแบบ หลายวิธีสุดแต่จะนิยมสวดกัน  ส่วนที่นิยมเป็นอย่างเดียวกันและเว้นไม่ได้ก็คือ  บทนมัสการพระ  ได้แก่  “นะโม”  บทนี้ต้องใช้ขึ้นต้นเสมอไปไม่ว่าในพิธีใด ๆ  และดูเหมือนจะขึ้นใจกันในบทนี้ก่อน  เพราะเป็นบทไหว้พระบรมครู  ที่ต้องการว่าก่อน  เรียกว่าตั้ง  นะโม  ทั้งนี้  เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อท่านผุ้เป็นพระบรมครูของโลก  ผู้เริ่มสร้างหลักธรรมของพระพุทธศาสนาขึ้นจะได้เกิดความศักดิ์สิทธิ์  ในบทที่จะสวด บทต่อไปมีอยู่  ๕  บท  คือ  นะโม  บทหนึ่ง  ตัสสะ  บทหนึ่ง  ภะคะวะโต  บทหนึ่ง  อะระหะโต  บทหนึ่ง  สัมมาสัมพุทธัสสะ  บทหนึ่ง  ทั้ง  ๕  บทนี้  มีตำนานมาว่า
ครั้งหนึ่งเทวดาห้าองค์  คือ  สาตาคิรายักษ์  องค์หนึ่ง  อสุรินทราหู  องค์หนึ่ง  ท้าวมหาราช องค์หนึ่ง ท้าวสักกะ  องค์หนึ่ง  ท้าวมหาพรหม  องค์หนึ่ง  ไปเฝ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างจับใจ  จึงได้เปล่งวาจาขึ้น
     สาตาคิรายักษ์ เปล่งวาจาว่า นะโม
     อสุรินทราหู    เปล่งวาจาว่า ตัสสะ
     ท้าวมหาราช  เปล่งวาจาว่า ภะคะวะโต
     ท้าวสักกะ      เปล่งวาจาว่า อะระหะโต
     ท้าวมหาพรหม เปล่งวาจาว่า สัมมาสัมพุทธัสสะ
ใช้สำหรับเป็นบทนมัสการพระพุทธเจ้า  ตั้งแต่นั้นมาจนทุกวันนี้  ใจความของนะโมนั้นมีว่า  “ขอนอบน้อม แด่สมเด็จพระผู้มีพระภาค  อรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น”  เพียงเท่านี้ก็เป็นอันประกาศพระคุณของพระพุทธเจ้า  อย่างรวบยอดโดยสิ้นเชิง  พระคุณของพระพุทธเจ้าอย่างรวบยอดมี  ๓  ประการ  คือ
 ๑.   ทรงตรัสรู้  ชอบด้วยพระองค์เอง  เรียกว่า  พระปัญญาคุณ
 ๒.  ทรงบริสุทธิ์สิ้นเชิง  เรียกว่า  พระวิสุทธิคุณ
 ๓.  สั่งสอนผู้อื่นให้รู้ยิ่งตามความเป็นจริง  เรียกว่า  พระกรุณธิคุณ
       การสวดมนต์เป็นหน้าที่ของพุทธศาสนิกชนมานานแล้ว  ทั้งสวดด้วยตนเองและฟังพระสวด  การสวดด้วยตนเอง  ได้กล่าวแล้วว่า  เป็นกิจวัตรสำหรับตน ซึ่งจะต้องทำเสมอ ๆ  เพื่อให้เกิดสวัสดิมงคลแก่ตน และเป็นเครื่องปลอบใจให้สงบไม่ฟุ้งซ่าน  โดยนึกถึงคุณพระเป็นอารมณ์  เพื่อหน่วงเหนี่ยวน้ำใจให้แช่มชื่น อยู่ในพระคุณของท่าน  แม้เวลามีอันตราย  เมื่อนึกถึงคุณพระก็บรรเทาความหวาดสะดุ้งไปได้ชั่วขณะ  ในโลกนี้  ใครที่จะถูกขอร้องให้ทำงานทั้งใหญ่  ทั้งหนักทั้งมาก  และไม่มีเวลาหยุดเหมือนคุณพระเป็นไม่มีแล้ว  งานแต่ละอย่างที่ถูกขอร้องนั้น  ล้วนมหึมาทั้งสิ้น  เช่น  งานดลบันดาล  งานคุ้มครองป้องกัน  งานปกป้องรักษา  ดังปรากฏในคำขอร้องอวยพรต่าง ๆ  ในที่ทั่ว ๆ  ไป  คุณพระต้องแบ่งภาคทำงานใหญ่  ทุกทิศทุกทางไม่หยุดหย่อน  แล้วแต่ว่าเขากลัวกันในด้านไหน  ต้องการอะไร  เขาก็ขอร้องให้ทำทั้งนั้น  เขาไปรบก็ต้องแบ่งภาคไปกับเขา  ถ้าเขาไปกันแสนหนึ่ง  ก็ต้องแบ่งภาคไปแสนหนึ่ง  ที่เฝ้าแนวหลังก็ต้องแบ่งภาคอยู่ด้วย  ทุกวัดวาอาราม  ทุกบ้านเรือนที่นับถือต้องอยู่ช่วยกันทั้งนั้น  จนกระทั่งเด็กเล็ก ๆ  ก็ต้องแบ่งภาคเป็นองค์เล็ก ๆ  ให้ผูกคอ  ทั้งเป็นหมอวิเศษนัก  ผู้ที่เส้นประสาทไม่ค่อยดี  เพราะเสียงสัญญาณภัย ทางอากาศ  ถ้าไม่ได้คุณพระซึ่งเป็นหมอวิเศษแล้วจะเลยเป็นบ้ากันยกใหญ่  ถึงที่เส้นประสาทดีก็ได้ท่านรักษาอีก  จึงคงดีอยู่ได้มาก  เรารบกวนท่านแล้วถึงเพียงนี้  ก็ควรทำให้ดีอยู่กับท่านเสมอ ๆ  นึกถึงท่านทุกวันคืน  ไม่ใช่นึกถึงท่านเพียงชั่วขณะมีอันตรายเท่านั้น  ทำได้ดังนี้เป็นสวัสดีแน่ ๆ


 ความหมายเครื่องบูชาบนโต๊ะหมู่
        เครื่องสักการะบูชาพระรัตนตรัยที่ชาวพุทธทั้งหลายได้เอามาบูชานั้น  ล้วนแต่มีความหมายและแฝงไว้ซึ่งปรัชญา  แต่ชาวพุทธอีกจำนวนมากไม่ทราบเลยว่า  ทำไมจึงต้องมีสิ่งเหล่านี้  และมีไว้เพื่ออะไร  ดังนั้น  ผู้เขียนจึงขอเข้าเรื่อง  “ความหมายเครื่องบูชาบนโต๊ะหมู่”  เพื่อความเข้าใจอันดีและถูกต้องตามความหมาย  จึงใคร่ของนำมาเสนอแนะ  ดังต่อไปนี้
       ธูป   สำหรับบูชาพระพุทธเจ้า  นิยมจุดครั้งละ  ๓  ดอก  หมายความว่า  พระพุทธเจ้าของเราทั้งหลายนั้น  พระองค์มีพระคุณมากมายสุดที่พรรณนาได้  แต่เมื่อจะย่อลงให้น้อยที่สุดก็เหลือเพียง  ๓  ประการ  คือ  ๑.  พระปัญญาคุณ  ๒.  พระบริสุทธิคุณ  ๓.  พระมหากรุณาธิคุณ
      ธูปที่บูชาบนโต๊ะหมู่  จึงหมายถึงพระคุณทั้ง  ๓  ประการนี้  บรรดากลิ่นหอมทั้งหลายที่มีอยู่ในโลก  ส่วนใหญ่เป็นกลิ่นที่ยั่วยุกามารมณ์ให้กำเริบ  กลิ่นธูปเป็นกลิ่นที่น่าอัศจรรย์  คือเป็นกลิ่นหอมและกลิ่นอันสามารถทำจิตใจให้สงบได้  แต่กลิ่นของศีลนั้น  พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า  เป็นกลิ่นที่ทวนลมและเป็นกลิ่นตามลม  ที่เหล่าเทพยดาทั้งหลายทรงสรรเสริญและยกย่อง  แม้พระองค์ทรงดับขันธ์ปรินิพพานไปนานกว่า  ๒๕๐๐  ปีเศษ  กลิ่นแห่งศีลของพระองค์ก็ยังตรึงใจของเหล่าชาวพุทธอยู่ตลอดเวลา
      เทียน   เทียนที่นิยมใช้จุดบูชานั้น  มี  ๒  เล่ม  เป็นอย่างน้อย  หมายความว่า  บรรดาคำสอนที่เป็น  “สัตถุศาสน์”  คือ  คำสอนของพระพุทธเจ้า  เมื่อแยกประเภทออกแล้วมีอยู่  ๒  ประเภทด้วยกัน  คือ
 ๑.   พระวินัย   สำหรับฝึกหัดกาย  วาจา  ให้เรียบร้อย
 ๒.  พระธรรม  สำหรับฝึกใจให้สงบเพื่อจะได้พบความสุข
      ดังนั้น  เทียน  ๒ เล่ม  จึงเป็นเครื่องหมายถึงพระธรรมวินัย  หรือ  ที่เราเข้าใจกันว่า  ศีลธรรมนั่นเอง  จะเป็นศีล  ๕,  ศีล  ๘,  ศีล  ๑๐,  ศีล  ๒๒๗,  ศีล  ๓๑๑  ก็ตาม  ล้วนแต่อยู่ในความหมายนี้  และอีกอย่างหนึ่ง เทียนนี้ท่านผู้รู้ได้เปรียบเหมือนมารดาและบิดาผู้ให้กำเนิดแก่บุตรธิดา  เพราะเทียนนั้นเมื่อจุดแล้วให้แสงสว่างแก่ผู้จุด  แต่เทียนนั้นก็ค่อย ๆ  หมดไปเหมือนมารดาและบิดาผู้เลี้ยงดูบุตรธิดาให้เติบโต  และให้ได้รับการศึกษาวิชาความต่าง ๆ  ส่วนสภาพ ร่างกายนั้นก็เหี่ยวแห้งลงตามลำดับ  ฉันใด  เทียนที่จุดแล้วให้ความแสงสว่าง  และตัวเองก็ค่อย ๆ  หมดไปฉันนั้น
        พระธรรมไม่ว่าจะเป็นธรรมขั้นพื้นฐาน  ขั้นกลาง  หรือขั้นสูงสุด  ก็รวมอยู่ในความหมายนี้เช่นกัน  ผู้ที่จุดเทียนในที่มืดไม่ว่าจะเป็นที่ใดก็ตาม  ย่อมจะทำที่นั้นให้สว่าง  สามารถมองเห็นทางเดินได้อย่างชัดเจน  ฉันใด  พระธรรมและพระวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ฉันนั้น  ผู้ใดทำให้เกิดมีขึ้นในใจมากเท่าใด  ก็จะเป็นแสงประทีปนำทางของผู้นั้นให้ได้พบความสว่างและความสงบ  มีปัญญาเฉลียวฉลาดอย่างที่ไม่เคยมีปัญญาใด ๆ  ในโลกจะมาเทียบได้
       ดังนั้น  การบูชาทุกครั้งจึงต้องจุดเทียนก่อนเสมอ  เพื่อแสดงให้เห็นว่าศีลทุกคนจะต้องรักษาเพื่อดัด กาย  วาจา  ของตนให้ละเอียดประณีตขึ้น  และธรรมทุกคนจะต้องประพฤติเพื่อความอยู่เป็นสุขใจสังคมมนุษย์  อย่างน้อยที่สุดต้องมีความรักความเอ็นดู  ความสงสาร  และการไม่เบียดเบียนกันและกัน  โลกจึงจะสงบสุข  พบกับสันติภาพ
       ดอกไม้   การนำดอกไม้มาบูชานั้นมีความหมายว่า  อันธรรมดาว่าดอกไม้นานาพันธุ์ที่เกิดอยู่ตามธรรมชาติ  ย่อมมีความสวยงามตามสมควรแก่สภาพของมัน  แต่พอบุคคลนำมากองไว้ปะปนกัน  โดยมิได้จัดให้มีระเบียบ  ย่อมไม่สวยงามไม่น่าดูไม่น่าชม  แต่ถ้านายมาลาการคือช่างดอกไม้  นำมาร้อยจัดสรรให้เป็นระเบียบเสียบไว้ในแจกัน  หรือใส่พานประดับแต่งให้มีระเบียบแล้ว  ย่อมจะแลดูสวยงาม  น่าดู  น่าชม  ข้อนี้ฉันใด  เหล่าพระสงฆ์สาวกของพระพุทธ องค์  คราวที่ท่านอยู่ครองฆราวาส  มีกิริยามารยาท  ทางกาย  วาจาและใจงามเหมาะสมตามควรแก่ตระกูลของตน  หยาบบ้าง  ประณีตบ้าง  ละเอียดบ้างอันไม่เท่ากัน  แบ่งชั้นวรรณะกันไปตามตระกูลวงศ์  มีอัธยาศัยต่าง ๆ  กันไป  เมื่อมีศรัทธาเลื่อมใสเข้ามาบวชรวมกันอยู่  ถ้าไม่มีระเบียบข้อวัตรปฏิบัติให้เป็นอันเดียวกันก็ไม่ต่างอะไรกับดอกไม้ที่นำมากองไว้  ไม่มีระเบียบ  ไม่น่า เลื่อมใส  ไม่น่าเคารพบูชาแก่ผู้ที่พบเห็น  ครั้นพระพุทธเจ้าผู้เป็นเสมือนนายช่างดอกไม้ผู้ฉลาด  พระองค์ได้ทรงวางระเบียบปฏิบัติคือ  พระธรรมและพระวินัยไว้เป็นแบบแผนปฏิบัติ  จัดสรรพระสงฆ์สาวกเหล่านั้น ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในระเบียบเดียวกัน จึงเกิดมีระเบียบเรียบร้อย น่าเคารพ  น่าเลื่อมใสศรัทธาแก่บรรดาผู้ที่ได้พบเห็นฉันนั้น
          ดอกไม้ที่เลือกสรรมาบูชานั้น  ชาวพุทธส่วนมากนิยมนำดอกไม้ที่มีคุณลักษณะที่ดีงามมาบูชา  คือเป็นดอกไม้ที่กำลังแรกแย้ม  มีกลิ่นหอม  และมีสีสวยสด  ไม่นิยมนำดอกไม้เหี่ยวแห้งมาบูชาหรือดอกไม้  ที่เป็นสิ่งประดิษฐ์  เช่นดอกไม้ที่ทำด้วยพลาสติกเป็นต้น  เพราะเชื่อกันว่าผู้บูชาด้วยดอกไม้ที่มีสีสวยมีกลิ่น หอม  และเป็นดอกไม้แรกแย้มแล้ว  เมื่อคราวจะได้อะไร  ก็จะได้แต่ของที่ใหม่สดเสมอ  ไม่เป็นมือสองรองจากใคร  ดุจตาชูชกผู้มีอายุแก่คราวปู่ได้นางอมิตตา  ซึ่งเป็นสาวแรกรุ่นมาเป็นเมีย  ส่วนผู้ที่บูชาด้วยดอกไม้ ที่เหี่ยวแห้ง  เช่นดอกไม้ที่ทำด้วยสิ่งประดิษฐ์ด้วยพลาสติก  อาจมีสีสวยแต่ไม่มีกลิ่นหอม  เข้าทำนองที่ว่า  สวยแต่รูปจูบไม่หอม  ผู้นั้นเวลาจะได้อะไรก็มักจะได้ของที่ไม่ดี  ไม่สวยเป็นที่พอใจ  ตัวอย่างนางอมิตตาได้ ตาชูชก  ซึ่งแก่คราวปู่มาเป็นสามี
         อย่างไรก็ตาม  การบูชาด้วยดอกไม้นั้นนิยมนำดอกบัวตูมมาถวายพระหรือบูชาพระ  เพราะลักษณะคล้ายรูปหัวใจ  มีความหมายว่า  ดอกบัวนั้น  มีถิ่นกำเนิดในเปลือกตมไม่สะอาดแต่พอพ้นน้ำแล้วบาน สะพรั่งสวยงามเปรียบได้กับพระสงฆ์สาวกที่ออกจากเปลือกตม  คือ  กิเลส เบ่งบานด้วยรสพระธรรม  ตัดความอาลัยคือ  กามคุณห้าได้แล้ว เป็นพระอริยบุคคล  (การบูชาด้วยดอกบัวนั้น  จะให้มีความหมายที่ถูกต้องแล้ว  ต้องบูชาให้ครบ  ๘  ดอก  ซึ่งหมายถึง  พระอริยบุคคล  ๘  จำพวก  มีพระโสดาบันเป็นต้น)
        สรุปได้ความว่า  ธูป  ๓  ดอก  ที่จุดบูชานั้น  หมายถึงพระพุทธคุณทั้ง  ๓  ประการ  คือ
 ๑.   พระปัญญาคุณ   (ปัญญารู้แจ้งเห็นจริงด้วยพระองค์เองโดยไม่มีใครสอน)
 ๒.  พระบริสุทธิคุณ  (ความบริสุทธิ์หมดจดสิ้นราคะ  โทสะ  และโมหะ)
 ๓.  พระมหากรุณธิคุณ  (มีเมตตาสอนผู้อื่นให้รู้แจ้งตามความเป็นจริง)
      เทียน  ๒  เล่ม  หมายถึงจุดเพื่อบูชาคุณของศีลและธรรม  ซึ่งเป็นคำสอนของพระบรมศาสดา  ที่พระองค์ทรงค้นพบด้วยปัญญาของพระองค์เอง
 ๑.   เทียนเล่มซ้ายมือผู้จุด  หมายถึงพระวินัยคือศีลทั้งหมด
 ๒.  เทียนเล่มขวามือผู้จุด  หมายถึงพระธรรมที่พระองค์ทรงค้นพบแล้วทรงสั่งสอนหมู่มนุษย์และ เทวดาให้มีจิตใจอ่อนโยน
       เวลาจุดเทียนต้องจุดเล่มซ้ายมือของเราก่อน  เพราะหมายถึง  ศีลซึ่งกำจัดกิเลสอย่างหยาบ  ปรกติเมื่อจะทำบุญใด ๆ  (ทำความดี)  ก็ตามจะต้องรับศีล
       การจุดเทียนเล่มขวามือของเรานั้น  หมายถึงพระธรรมอันเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างละเอียด  และรักษาผู้ประพฤติปฏิบัติธรรมมิให้ตกไปทางที่ชั่ว
       ดอกไม้ที่นำมาบูชาพระบนโต๊ะหมู่นั้น  หมายถึงพระสงฆ์ที่ท่านออกจากบ้านเรือนมาบวชแล้วตั้งอยู่ในศีลธรรม  ทั้งที่เป็นพระอริยสงฆ์  และพระกัลยาณะ  สมมติสงฆ์  เมื่อเราทราบความหมายดังนี้แล้ว  จึงควรที่เราทั้งหลายมาช่วยกันรักษาและกราบไหว้ให้ถูกต้อง  และสั่งสอนบุตรหลานทั้งหลายให้เขาเข้าใจในความหมายเหล่านี้  เมื่อเขาเข้าใจดีแล้ว  ก็จะได้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยาวนานสืบต่อไป.

 




คอลัมน์ที่ 6

พระพุทธเจ้าสอนอะไร article
ประชาสัมพันธ์ article
คำขวัญของจังหวัดต่าง ๆ article
อานิสงส์ของศีล article



Copyright © 2010 All Rights Reserved.
MARQUEE กำหนดการ วันจัดงานประจำปี ๒๕๖๗ วัดป่าภูริทัตตาราม เมืองกีเซ่น   วันอาทิตย์ที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๗ จัดงานวันมาฆบูชา   วันอาทิตย์ที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๖๗ จัดงานวันสงกรานต์   วันพฤหัส-อาทิตย์ที่ ๒๓-๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๗ จัดกิจกรรมบวชเนกขัมมะ   วันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๖๗ จัดงานวันวิสาขบูชา   วันอาทิตย์ที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ จัดงานวันอาสาฬหบูชา(เข้าพรรษา)   วันอาทิตย์ที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๗ จัดงานวันออกพรรษา     Feste im Jahr 2023 Wat Pah Puritattaram Giessen Programme    Sonntag 3 Märr 2024 Tambun Wan Makhabuscha    Sonntag 21 April 2024 Tambun Wan Songkran   Do-So 23-26 Mai 2024 Einkehrtage (Buad Nekkama)   Sonntag 26 Mai 2024 Tambun Wan Wisakabuscha    Sonntag 28 Juli 2024 Tambun Wan Ahsarahabuscha (Kao Phansaah)   Sonntag 27 Oktober 2024 Tambun Wan Ohg Phansaah Wat Pah Puritattaram
Sandfeld 12 , 35396 Giessen
Tel. 0641- 877 3000 Fax: 0641 - 3013103
E-mail: phrapattiyo@t-online.de